หน้าแรก ITA แบบสอบถามความฯ Facebook Admin webmail   facebook   Line

เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “ศัตรูมะพร้าว” ระบาด

เตือนเฝ้าระวัง “ศัตรูมะพร้าว” ระบาด
ด้วงแรด
ลักษณะการทำลาย : ตัวเต็มวัยเท่านั้นที่เป็นศัตรูพืชโดยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบและยอดอ่อนของมะพร้าวที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ เมื่อใบคลี่ออกจะมีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายรูปพัดหรือหางปลา
การป้องกันและกำจัด :
1. กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยการทำลายซากท่อนมะพร้าว ตอมะพร้าว หรือหากมีซากชิ้นส่วนของพืชและมูลสัตว์ ควรเกลี่ยกระจายไม่ให้หนาเกิน 15 ซม. ถ้าจำเป็นต้องกองซากชิ้นส่วนของพืชและมูลสัตว์ทิ้งไว้เกิน 2 – 3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง เพื่อตรวจหาไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของด้วงแรดแล้วกำจัด
2. ทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าว ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผล เป็นรู ให้ใช้เหล็กแหลมแทง เพื่อกำจัดด้วงแรดที่อยู่ในรูไม่ให้สามารถวางไข่ได้
3. ใช้กับดักฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย การวางกับดักฟีโรโมนต้องห่างจากแปลง 3 – 5 เมตร และวางทิศทางต้นลมของแปลงเสมอ
4. ใส่เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมในกองล่อ หรือกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่ผุพังซึ่งอาจมีหนอนด้วงแรดอาศัยอยู่ เชื้อจะทำลายด้วงแรดทุกระยะการเจริญเติบโต
5. การใช้สารเคมีในการกำจัด ใช้สารเคมีราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกชุ่มโดยใช้น้ำยาผสมประมาณ 1 – 1.5 ลิตร/ต้น ตามขนาดของคอมะพร้าว จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 15-20 วัน โดยใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง
ไดอะซินอน 60% EC อัตราการใช้ 80 มล./น้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม 1B)
คาร์บาริล 85% WP อัตรา 80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (สารกลุ่ม 1A)
ด้วงงวง
ลักษณะการทำลาย : ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอยอดมะพร้าว บางครั้งเข้าทำลายที่โคนต้นทำให้มะพร้าวต้นตาย โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่ที่รอยแผลบริเวณยอด รอยแตกของโคนทางใบ โคนลำต้น หรือรอยแผลที่เกิดจากการตัดทางใบหรือรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ สังเกตอาการรุนแรงที่แสดงคือยอดเฉาเหี่ยวแห้ง ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหักพับ
การป้องกันและกำจัด :
1. ไม่ปลูกมะพร้าวแบบโคนลอยและอย่าให้เกิดรอยแผล
2. หมั่นดูแลทำความสะอาดคอมะพร้าว ถ้าพบอาการรอยแผล รอยเจาะ และยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยว ให้ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวเอาตัวหนอนมาทำลาย รอยตัดจั่นมะพร้าวเพื่อทำน้ำตาล รอยแตกที่โคนต้น โดยใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณแผล เพื่อป้องกันการวางไข่
3. ทำลายต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวทำลาย เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์
4. ใช้กับดักฟีโรโมนล่อด้วงงวงตัวเต็มวัยเพื่อนำไปทำลาย
แมลงดำหนาม
ลักษณะการทำลาย : ตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินยอดอ่อน และซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่และจะเคลื่อนย้ายไปกินยอดอ่อนอื่นหลังจากที่ยอดนี้คลี่ออกแล้ว ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง
ใบมะพร้าวจะเป็นสีขาวโพลนชัดเจน หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มะพร้าวหัวหงอก”
การป้องกันและกำจัด : สังเกตใบที่ถูกทำลาย
กรณีระบาดรุนแรงน้อย ต้นมะพร้าวมีทางใบยอดที่ถูกทำลายตั้งแต่ 1 – 5 ใบ ควบคุมการระบาด ดังนี้
1. ใช้วิธีตัดยอดที่ถูกทำลาย เก็บไข่ และตัวหนอน ไปทำลาย
2. ไม่เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวจากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งที่ไม่มีการระบาด
3. ใช้ตัวห้ำและตัวเบียน ในมะพร้าวต้นต่ำกว่า 12 เมตร
ปล่อยแมลงหางหนีบ บริเวณยอดมะพร้าว อัตรา 50 ตัวต่อยอด หรือ อัตรา 300 ตัวต่อไร่ ให้กินหนอนและดักแด้แมลงดำหนาม
ปล่อยแตนเบียน อะซีโคดีส ฮิสพินารัม (Asecodes hispinarum) และแตนเบียนเตตระสติคัส บรอนทิสปี้ (Tetrastichus brontispae) ทำลายหนอนแมลงดำหนาม อัตรา 5 – 10 มัมมี่ต่อไร่ ปล่อย 3 – 5 ครั้ง ห่างกัน 7 – 10 วัน
กรณีระบาดรุนแรงปานกลางถึงมาก ต้นมะพร้าวมีทางใบยอดที่ถูกทำลาย 6 – 10 ใบ และ ตั้งแต่ 11 ใบขึ้นไป ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ดังนี้
1. มะพร้าวต้นเล็ก ใช้สาร คาร์แทป ไฮโดรคลอไรด์ 4% GR อัตรา 30 กรัมต่อต้น โดยห่อใส่ถุงเหน็บไว้ที่ยอดมะพร้าว ควบคุมกำจัดแมลงดำหนามได้นาน 1 เดือน หรือใช้สารเคมี ดังนี้- อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม (สารกลุ่ม 4)
ไทอะมีทอกแซม 25 % WG อัตรา 4 กรัม (สารกลุ่ม 4)
ไดโนทีฟูแรน 10 % WG อัตรา 10 กรัม (สารกลุ่ม 4)
โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ละลายน้ำ 1 ลิตรต่อต้น ราดบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว
2. มะพร้าวต้นสูงกว่า 12 เมตร ใช้ อีมาเม็กติน เบนโซเอต 1.92 EC (สารกลุ่ม 6 ) ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 – 50 มิลลิลิตรต่อต้น ป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นานไม่น้อยกว่า 2 เดือน
ไรสี่ขา
ลักษณะการทำลาย : จะเข้าทำลายภายใต้กลีบขั้วผล ตั้งแต่ผลขนาดเล็ก โดยดูดกินอยู่ภายใต้กลีบเลี้ยงของผลทำให้เกิดแผล และลุกลามทำให้เป็นแผลตกสะเก็ด เมื่อผลโตจะเห็นแผลเป็นร่่องลึกชัดเจนขึ้น แตกเป็นริ้วเหมือนลายไม้สีน้ำตาล และทำลายทุกผลในทลาย ทำให้ผลมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากการระบาดรุนแรงในผลเล็กจะร่วงเสียหายจนไม่สามารถจำหน่ายได้
การป้องกันและกำจัด :
1. เน้นพ่นสารฆ่าไรในช่วงระยะมะพร้าวติดจั่นจนถึงระยะผลขนาดเล็ก ห่างกัน 1 สัปดาห์
โดยสารเคมีที่แนะนำ ดังนี้
โพรพาไกต์ 30%WP อัตรา 30 กรัม (สารกลุ่ม 12)
อามีทราซ 20%EC อัตรา 40 ซีซี (สารกลุ่ม 19)
กำมะถัน 80%WG อัตรา 60 กรัม (สารกลุ่ม UN)
ไพริดาเบน 20%WP อัตรา 10 – 15 กรัม (สารกลุ่ม 21)
สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 6 มิลลิลิตร (สารกลุ่ม 23)
เฮกซีไทอะซอกส์ 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร (สารกลุ่ม 10 A)
ไซฟลูมีโทเฟน 20% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร (สารกลุ่ม 25)
ทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 3 มิลลิลิตร (สารกลุ่ม 21 )
เลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นฆ่าไร ทุก 7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง โดยให้สลับกลุ่มสารตามกลไกการออกฤทธิ์ในการพ่นทุก 2 ครั้ง
หมายเหตุ : สารกำมะถันห้ามผสมกับสารชนิดอื่น เพราะอาจเกิดไฟโตทอกซิกกับมะพร้าวได้
2. สวนมะพร้าวที่พบการทำลายรุนแรงและล้งรับซื้อผลมะพร้าว ให้ดำเนินการ ดังนี้ ตัดช่อดอก ช่อผล ผลที่พบอาการถูกทำลายจากไรสี่ขามะพร้าว และเศษซากจากการปอกมะพร้าวก่อนจำหน่าย นำมากองรวมกัน หลังจากนั้นพ่นด้วยสารฆ่าไรตามคำแนะนำ และคลุมด้วยผ้าพลาสติก อย่างน้อย 10 วัน
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร. (2564).

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

No comments yet